วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ผลการนิเทศติดตาม ตามแผนนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ผลการนิเทศติดตาม ตามแผนนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สำหรับโรงเรียนในเขตอำเภอกำแพงแสน ครั้งที่ 1 ภาคเรียนที่ 1/2553 ประเด็นที่ทำการนิเทศและข้อมูลที่ได้จากการนิเทศ ติดตามรายละเอียดที่นี่


ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่รับการนิเทศ

1.การใช้ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ได้แก่ผลการประเมิน O - Net; NT; LAS สำหรับคะแนน O-Net ผู้นิเทศขอแนะนำให้เข้าไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของศทส.ซึ่งจะได้ข้อมูลรายคน รายวิชาและรายสมรรถนะในส่วนนี้ ผู้นิเทศได้ขอแนะนำให้นำข้อมูลจากการสอบ O - Net; NT; LAS มาวิเคราะห์แยกเป็นรายกลุ่มสาระ รายสาระ หรือศึกษารายละเอียดเป็นรายบุคคล เพราะการวางแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของครู จะต้องนำข้อมูลจากผลการทดสอบดังกล่าวมาศึกษาว่า สมรรถนะหรือสาระการ เรียนรู้ใด ผลการทดสอบเป็นอย่างไร ครูจะต้องปรับปรุงการสอน /วิธีสอน /ปรับน้ำหนักความสำคัญ เพิ่มหรือลดเวลา ให้กับการสอนในเรื่องใด มาก น้อย อย่างไรและที่สำคัญที่สุด ไปตรวจสอบกับหลักสูตรของโรงเรียนว่า มาตรฐาน ตัวชี้วัดที่ตรงกับเรื่องดังกล่าว กำหนดความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนไว้อย่างไร เราต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นไปตามนั้น สำหรับข้อมูลรายคนของนักเรียนชั้น ป.2.ป.3.ป.5 ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน จะช่วยให้ครูมีข้อมูลในการพัฒนานักเรียนรายบุคคลได้มากขึ้น
2.การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จากที่มีการสำรวจข้อมูลแล้ว พบว่านักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จำนวนหลายคน กระจายอยู่ตามชั้นต่างๆชั้นที่มากที่สุดคือ ป.2 และ 3 ครูผู้สอนและครูวิชาการของแต่ละโรงเรียนมักจะบอกว่า จำนวนนักเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ผู้นิเทศขอแนะนำให้ใช้เครื่องมือประเมินและวิธีประเมินเพื่อตัดสินว่าเป็นนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จริงๆ โดยอาจใช้รูปแบบการทดสอบการอ่านของ ป.3 ในปีที่ผ่านมาก็ได้ จะมีเกณฑ์เรื่องจำนวนคำ และเวลาที่กำหนดให้อ่าน วิธีการแก้ไขขอเสนอแนะว่าควรใช้การฝึกที่หลากหลายกับนักเรียนที่มีความสามารถในการอ่านต่างกัน เช่นบางคนอาจต้องฝึกประสมคำ ใช้สื่อช่วยฝึก พยายามอย่าใช้สื่อซ่อมเสริมซ้ำๆ อาจใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) หรือใช้โปรแกรมประเภทคาราโอเกะช่วย สิ่งสำคัญนอกจากการต้องฝึกมากๆ แล้ว ความรู้สึกชอบฝึก ต้องการฝึกด้วยตนเอง จะช่วยพัฒนาความสามารถของนักเรียนได้รวดเร็วขึ้น
3.ด้านการประกันคุณภาพภายใน โรงเรียนหลายแห่งกำลังจัดทำรายงานการประเมินตนเองใหม่ตามแบบที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 1 (กลุ่มงานส่งเสริมระบบประกันฯ) ขอแนะนำให้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาให้ครอบคลุมในเรื่องการประเมินภายนอกรอบสอง ผลการประเมินตนเอง ผลจากการสอบ NT ;O-Net ;LAS สรุปรายงานผลตามโครงการในรอบปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับแผนปฏิบัติการโรงเรียนจัดทำส่วนนำให้สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นและความต้องการ กลุ่าวคือมีการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อจะทำให้เห็นว่าแผนที่จัดทำสอดรับกับผลการประเมินภายนอกรอบสอง ผลการประเมินตนเอง ผลจากการสอบ NT ;O-Net ;LAS ในเรื่องของการพัฒนาระบบประกันคุณภาพนี้ขอให้โรงเรียนศึกษากฎกระทรวงเรื่องดังกล่าวและขอให้ดำเนินการให้ครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดมาตรฐานระดับสถานศึกษา ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.esanpt1.go.th/assure/
4. ด้านการพัฒนาหลักสูตร โรงเรียนควรตรวจสอบโครงสร้างเลาเรียนให้ถูกต้องตามกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยเวลาเรียนพื้นฐาน ชั้น ป.1-3 = 880 ชั่วโมงต่อปี (ถ้ามีรายวิชาเพิ่มเติม840 ชั่วโมง) ชั้น ป.4 -6 = 840 ชั่วโมงต่อปี ชั้น ม.1-3 = 880 ชั่วโมงต่อปี สำหรับรายวิชา เพิ่มเติมก็ให้เป็นไปตามที่กำหนดของแต่ละระดับ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.esanpt1.go.th/curriculum/ และแนะนำให้ปรับข้อความเกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินให้ชัดเจนสอดคล้องกันทั้งในส่วนของโครงสร้างหลักสูตรและตามระเบียบวัดผลของโรงเรียน พร้อมทั้งขอให้ใช้โครงสร้างรายวิชาทุกรายวิชา ศึกษาโครงสร้างรายหน่วย วิเคราะห์ มาตรฐานและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องพร้อมกำหนดน้ำหนักคะแนนไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลให้เหมาะสมต่อไป สำหรับตัวอย่างระเบียบวัดผลดาวน์โหลดได้ที่ http://www.esanpt1.go.th/measure/ นอกจากนี้โรงเรียนควรศึกษาโปรแกรมเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารการวัดประเมินผลได้แก่แบบบันทึกเวลาเรียน แบบบันทึกผลการประเมินรายกลุ่มสาระ รวมทั้งแบบปพ.1 แบบฉบับร่างประจำตัวนักเรียนทุกคนตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้น ป.1 ซึ่งพบว่าหลายโรงเรียนยมีมีรูปแบบที่น่าสนใจมาก คิดว่าน่าจะปรับใช้กับทุกโรงเรียนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น