วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สรุปผลการนิเทศครั้งที่ ๑ และ ๒ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๓

ความเป็นมา
กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต ๑ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการนิเทศการศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๓ โดยกำหนดขอบข่ายการนิเทศการศึกษา เป้าหมายและตัวชี้วัดด้านที่ ๒ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ โดยในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา กำหนดการนิเทศโรงเรียนในสังกัดโรงเรียนละ ๒ ครั้งโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
๑. เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในประเด็นการนิเทศที่กำหนด
๒. เพื่อเร่งรัดติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนเกี่ยวกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ใน ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก
๓. เพื่อรวบรวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขในเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในประเด็นการนิเทศที่กำหนดและการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใน ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก
การดำเนินการนิเทศในภาคเรียนที่ ๒ แบ่งออกเป็น ๒ ครั้งแต่ละครั้งกำหนดเป้าหมายต่างกันดังนี้
ครั้งที่ ๑ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ดำเนินการนิเทศในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๕๓ ดำเนินการนิเทศทุกโรงเรียนในสังกัดและโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียน ตามประเด็น ๖ ประเด็นคือ
๑. ความสามารถในการอ่านและเขียน
๒. การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
๓. การใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
๔. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
๕. ระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
๖. การจัดการศึกษาระดับปฐมวัย
ครั้งที่ ๒ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ดำเนินการนิเทศในระหว่างวันที่ ๑๗ – ๓๐ มกราคม ๒๕๕๔ เพื่อเร่งรัดติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนเกี่ยวกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใน ๕กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก โดยคณะศึกษานิเทศก์นำเครื่องมือประเมินคุณภาพนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 คือแบบทดสอบที่คัดเลือกข้อทดสอบที่ค่อนข้างง่ายจากข้อทดสอบ O-NET ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ชั้นละ ๑๖ ข้อ ซึ่งครอบคลุม ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักคือภาษาไทย ๓ ข้อ คณิตศาสตร์ ๓ ข้อ วิทยาศาสตร์ ๓ ข้อ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ๓ ข้อ ภาษาอังกฤษ ๔ ข้อไปประเมินนักเรียนในโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาและโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ตั้งแต่ ๓๐ คนขึ้นไป
สรุปผลการนิเทศ
๑. ความสามารถในการอ่านและเขียน ทุกโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ลดลง เนื่องจากได้รับการพัฒนาความสามารถและได้รับการคัดกรองเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเป็นรายบุคคลมากขึ้นและนอกจากนี้อาจเป็นเพราะโรงเรียนต้องจัดทำข้อมูลนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่งให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ทุกวันที่ ๒ ของเดือน ทำให้โรงเรียนต้องเร่งรัดพัฒนาความสามารถดังกล่าว นวัตกรรมที่พบ มีบางโรงเรียนจัดครูรับผิดชอบพัฒนานักเรียนที่มีปัญหาการอ่านรายคน แบบคนต่อคน มีการใช้เพื่อนสอนเพื่อน พี่สอนน้อง การใช้เพลง การร้องเพลงคาราโอเกะ การนำคำพื้นฐานมาฝึกแต่งประโยค เป็นต้น
๒. การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
๒.๑ วิธีดำเนินการเร่งรัดคุณภาพนักเรียน พบว่าทุกโรงเรียนที่ทำการนิเทศมีการดำเนินการเร่งรัดคุณภาพนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และชั้นมธยมศึกษาปีที่ ๓ โดยจัดการเรียนการสอนตามเนื้อหาที่ต้องเรียนในชั้นนั้นๆ ให้จบเร็วขึ้น นำแบบทดสอบเก่าๆ มาทบทวน จัดการสอนเพิ่มในช่วงเวลาเช้าก่อนเข้าเรียน หลังเลิกเรียนและวันเสาร์ บางแห่งมีการจัดสอนพิเศษ/ติวเข้ม เชิญวิทยากรภายนอกมาดำเนินการพัฒนาศักยภาพให้แก่นักเรียน
๒.๒ ผลการทดสอบในการนิเทศครั้งที่ ๒ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๓
ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ พบว่า คะแนนเฉลี่ยรวมทุกรายวิชาเท่ากับร้อยละ ๖๓.๖๙ แต่เมื่อวิเคราะห์พบว่าคะแนนในแต่ละรายวิชายังมีความแตกต่างกัน โดยคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ ๗๐ แต่ภาษาไทย วิทยาศาสตร์และสังคมศึกษาฯ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละน้อยกว่าร้อยละ ๖๐

เมื่อวิเคราะห์ผลเป็นรายข้อพบว่า นักเรียนยังมีปัญหาในประเด็นต่อไปนี้
- ภาษาไทยในส่วนของเรื่องการเขียนสะกดคำ
- คณิตศาสตร์ในเรื่องของเศษส่วนซึ่งเป็นเนื้อหาที่วัดความเข้าใจในนิยามทางคณิตศาสตร์และความหลากหลายในการเขียนจำนวน
- วิทยาศาตร์ในเรื่องการอ่านข้อมูลจากการทดลองแล้วสรุปผลซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจนิยามทางวิทยาศาสตร์ มาพิจารณาวิเคราะห์ตัวเลือก
- สังคมศึกษาฯ ยังไม่สามารถนำองค์ความรู้ในเรื่องสิทธิการเลือกตั้งมาวิเคราะห์พิจารณาตัวเลือกที่ถูกต้องได้
อย่างไรก็ตาม ข้อทดสอบในแต่ละรายวิชามีเพียง ๓ ข้อ อาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่ครูแต่ละรายวิชาสอน ผลการอภิปรายนี้อาจอ้างอิงไม่ได้ทั้งหมด
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ พบว่า คะแนนเฉลี่ยรวมทุกรายวิชาเท่ากับร้อยละ ๕๓.๕๖ แต่เมื่อวิเคราะห์พบว่าคะแนนในแต่ละรายวิชายังมีความแตกต่างกัน โดยภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ ๖๐ โดยประมาณ ในขณะที่คณิตศาสตร์ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ ๓๗ ส่วนสังคมศึกษาฯ และภาษาอังกฤษมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละน้อยกว่าร้อยละ ๖๐
เมื่อวิเคราะห์ผลเป็นรายข้อพบว่า นักเรียนยังมีปัญหาในประเด็นต่อไปนี้
- ภาษาไทยในส่วนของเรื่องการนำคำจากภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทย
- คณิตศาสตร์ในเรื่องของการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ (บทประยุกต์)
- วิทยาศาตร์ในเรื่องการอ่านข้อมูลจากการทดลองแล้วสรุปผลซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจนิยามทางวิทยาศาสตร์ มาพิจารณาวิเคราะห์ตัวเลือก
- สังคมศึกษาฯ นักเรียนยังขาดองค์ความรู้และการนำไปใช้ มาวิเคราะห์พิจารณาตัวเลือกที่มีความสัมพันธ์กัน
อย่างไรก็ตาม ข้อทดสอบในแต่ละรายวิชามีเพียง ๓ ข้อ อาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่ครูแต่ละรายวิชาสอน ผลการอภิปรายนี้อาจอ้างอิงไม่ได้ทั้งหมด
เมื่อวิเคราะห์คะแนนเฉลี่ยรวมทุกกลุ่มสาระเป็นรายโรงเรียน พบว่าคะแนนเฉลี่ยร้อยละแตกต่างกันมาก กล่าวคือในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนที่มีคะแนนสูงสุดร้อยละ ๙๔ ต่ำสุดร้อยละ ๓๕ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนที่มีคะแนนสูงสุดร้อยละ ๗๒ ต่ำสุดร้อยละ ๓๓ ในโรงเรียนบางแห่งที่มีครูสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ หลายคน มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละในแต่ละรายวิชาแตกต่างกันมาก ซึ่งบางครั้งพบว่าเป็นไปตามความมุ่งมั่นของครูผู้สอน ผลคะแนนเฉลี่ยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ บางโรงเรียนอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ และเป็นโรงเรียนที่ครูสอนเพียงคนเดียว พบว่าครูในโรงเรียนดังกล่าวมักมีภารกิจอื่นๆ มากนอกจากงานการสอนเช่น ทำหน้าที่ครูการเงิน ครูธุรการ ครูกีฬา เป็นต้น
๓. การใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ จากการตรวจสอบเอกสารพบว่าโรงเรียนร้อยละ ๑๐๐ มีเอกสารหลักสูตร แต่เมื่อได้ศึกษาเอกสารหลักสูตรของโรงเรียนพบว่า หลายโรงเรียนยังไม่มีโครงสร้างรายวิชา หรือยังมีไม่ครบทุกชั้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ จากการสัมภาษณ์พอสรุปได้ว่า ครูยังไม่เข้าใจว่า โครงสร้างรายวิชามีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ การกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนและการวัดประเมินผลปลายปีอย่างไร เป็นประเด็นที่ควรพัฒนาต่อไป
สำหรับการนำหลักสูตรไปใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอน กำหนดภาระงาน ชิ้นงานและการวัดผลยังไม่สะท้อนตัวชี้วัดและมาตรฐานการเรียนรู้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ถ้าโรงเรียนไม่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาจะส่งผลให้นักเรียนไม่มีคุณภาพตามตัวชี้วัดและมาตรฐานการเรียนรู้ ไม่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ตามเป้าหมาย

๔. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ได้จัดทำระเบียบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ มีเครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เช่นแบบทดสอบ เกณฑ์การให้คะแนน ฯลฯ รวมทั้งโรงเรียนได้จัดให้มีคลังข้อสอบที่สอดคล้องกับหลักการของการวัดและประเมินผลตามหลักสูตรแกนกลางฯ ๒๕๕๑ มีการหนดสัดส่วนคะแนนในรายวิชาต่างๆ แตกต่างกันตามเป้าหมายและจุดเน้นของแต่ละโรงเรียน เช่น ๖๐/๔๐, ๗๐/๓๐, ๘๐/๒๐ สำหรับแบบบันทึกคะแนนรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ หลายโรงเรียนใช้แบบที่ออกแบบจัดทำเอง บางโรงเรียนจัดซื้อจากสำนักพมพ์ มีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประเมินผลตามหลักสูตร ๒๕๕๑
๕. ระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนส่วนมากยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานสถานศึกษารวมทั้งยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ซึ่งถ้ามีองค์ประกอบครบสมบูรณ์ก็จะช่วยให้โรงเรียนมีความพร้อมในการประเมินรอบ ๓ มากขึ้น
๖. การจัดการศึกษาระดับปฐมวัย จากการเยี่ยมชมห้องเรียนโดยรวมๆแล้วพบว่า สภาพห้องเรียนระดับอนุบาลมีความเหมาะสม หลายโรงเรียนมีพัฒนาการดีมาก จากการตรวจดูเอกสารประกอบการเรียนของนักเรียนและสัมภาษณ์ผู้สอน พบว่ามีการส่งเสริมนักเรียนให้มีทักษะทางภาษาและคณิตศาสตร์ แต่จากการสุ่มประเมินผลงานนักเรียน พบว่านักเรียนยังต้องได้รับการพัฒนาให้มีทักษะดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกมาก ต้องมีการกำหนดเป้าหมายความสามารถของนักเรียนในระดับนี้ให้ชัดเจนทั้งอนุบาล ๑ และ ๒ และต้องเพียงพอที่จะเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
บางโรงเรียนได้นำคำในบัญชีคำพื้นฐานสำหรับเด็กเล็กไปใช้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านภาษาของนักเรียนเช่น จัดทำเป็นบัตรคำ หรือจัดทำเป็น PowerPoint Presentation จัดทำหนังสือนิทาน คำคล้องจอง หรือฝึกนักเรียนใช้คำพื้นฐานมาใช้ในลักษณะบูรณาการให้สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ และกิจกรรมประจำวัน เช่น หน่วยวันพ่อ เรียนรู้คำว่า พ่อ เขียนคำว่า หนู รัก พ่อ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ทางภาษาและคลังคำสำหรับนำไปใช้ในการเรียนรู้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น